PRTHAINEWS

คุ้มครองสิทธิฯ ร่วมกับ องค์กร Centre for Civil and Political Rights ให้ความรู้ “การคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ” มุ่งเป็นประโยชน์และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้

วันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.00 น. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ร่วมกับ องค์กร Centre for Civil and Political Rights จัดการเสวนาในหัวข้อ “การคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ” โดยดำเนินการผ่านทางออนไลน์ระบบ Zoom ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นประธาน และมี ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย จำนวนประมาณ 80 คน เข้าร่วม

สำหรับการเสวนาในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วม มีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบตามข้อคิดเห็นทั่วไป (General Comment) ฉบับที่ 37 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลฉบับใหม่ รวมถึงได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยตรงร่วมกับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลก โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศกัมพูชา เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ในเรื่องกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและพันธกรณีของประเทศไทย ช่วงที่ 2 ได้รับเกียรติจาก Mr. Daisuke Shirane ผู้ประสานงานภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก องค์กร CCPR Centre เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการแนะนำเครื่องมือ (Tools) เพื่อศึกษามาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้อง และช่วงที่ 3 ได้รับเกียรติจาก Prof. Yuval Shany อดีตประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Former Chairperson of UN Human Rights Committee) เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ในเรื่อง เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมได้ให้ความสนใจสอบถามและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างกว้างขวางในหลายประเด็น อาทิ แนวปฏิบัติในการบริหารจัดการการชุมนุมตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ข้อท้าทายในการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกในพื้นที่ดิจิทัล การตีความหลักความจำเป็นและหลักความได้สัดส่วนในบริบทเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ สิทธิมนุษยชนและความมั่นคงในบริบทสุขภาพสาธารณะ ความรับผิดชอบของภาคธุรกิจต่อการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ เป็นต้น นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมได้เสนอให้มีการจัดประชุมในหัวข้ออื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นประโยชน์และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้ต่อไป