PRTHAINEWS

“มะเร็งเต้านม” ภัยคุกคามหมายเลข 1 เรื่องเล่า..สงวนเต้านม ในห้องผ่าตัด จากโรงพยาบาลพระรามเก้า

บรรดาสุภาพสตรีเคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า ทำไมสัญลักษณ์แห่งความเป็นหญิงของเรา ต้องมาพร้อมกับความเสี่ยงหมายเลข 1 ที่มีชื่อว่า “มะเร็งเต้านม” ด้วย

ผู้หญิงหลายคนต้องหมั่นเช็คสภาพเต้านมอยู่ทุกเดือน หลายครั้งหลายคราวต้องกังวลกับการรอคอยผลตรวจสุขภาพ ไหนจะต้องมาขวัญผวากับเรื่องเล่าแต่กาลก่อนที่บอกว่า “เป็นมะเร็งต้องตัดเต้านมทิ้งทั้งหมด” !! ยิ่งรายไหนที่ใช้ชีวิตแขวนอยู่บนความเสี่ยงทั้งในเรื่องพันธุกรรม หรือ มีความเสี่ยงเกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมนทดแทนอย่างต่อเนื่อง คงไม่ต้องบอกว่าความเครียดเรื่องมะเร็งเต้านมจะมีมากขนาดไหน

ที่ศูนย์เต้านม โรงพยาบาลพระรามเก้า มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีการรักษามะเร็งเต้านมที่ทันสมัย สามารถจัดการกับมะเร็งเต้านมไปพร้อมๆ กับที่สงวนเต้านมไปด้วย โดยที่คนไข้ไม่รู้สึกสูญเสียความมั่นใจในความเป็นผู้หญิง และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

ด้วยวิธีการผ่าตัดที่เรียกว่า “LD flap” และ “TRAM flap”

LD flap คืออะไร? ลองนึกภาพว่าถ้าเต้านมที่ถูกตัดออกเพราะมะเร็ง ถูกแทนที่ด้วยเนื้อเยื่อที่ของเราเอง มันจะยอดเยี่ยมขนาดไหน นี่แหละคือ LD flap หรือวิธีการผ่าตัดแบบ Latissimus Dorsi flap โดยใช้เนื้อเยื่อจาก “ผิวหนังกล้ามเนื้อและไขมันบริเวณหลัง” มาทดแทนเต้านมเดิม

ส่วน TRAM flap การผ่าดตัดมะเร็งเต้านมโดยใช้เนื้อเยื่อจาก “กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหน้าท้อง” พูดง่ายๆ คือเนื้อเยื่อคนละส่วน โดยปัจจัยที่แพทย์จะใช้วิธีการไหน ก็ขึ้นอยู่กับคนไข้เอง โดยพิจารณาจาก ขนาดเต้านม, ความหย่อนคล้อย และประวัติการรักษา

รศ.นพ.ประกาศิต จิรัปปภา ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า “การผ่าตัดสงวนเต้านมจะช่วยสงวนได้แม้กระทั่งหัวนมและผิวหนังของคนไข้ เพียงแต่ใช้เนื้อเยื่อส่วนอื่นมาแทนที่ ผลของการผ่าตัดในระยะยาว จะได้ลักษณะของเต้านมสร้างใหม่ ที่เหมือนเต้านมจริงมากที่สุด ทั้งในด้านรูปร่างและลักษณะเนื้อเต้านมจากการสัมผัส”

ข้ามมาอีกคำถามหนึ่งที่สุภาพสตรีอาจสงสัย ว่าหากบังเอิญเราพบเนื้อร้ายในระยะเริ่มต้นหรือไม่รุนแรงมาก เราควรผ่าตัดด้วยวิธี LD flap หรือ TRAM flap? คำตอบคือเราอาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัดหรือสูญเสียเต้านมเดิม ก็สามารถหายจากมะเร็งได้ด้วยการ “ตัดตัวก้อนออกร่วมกับการฉายแสง”

ทางด้าน พญ.ชญานุตม์ รัตตดิลก ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลพระรามเก้า เล่าว่า ขอให้ทุกท่านไว้วางใจได้เลยว่า “การรักษามะเร็งเต้านมของ รพ. พระรามเก้า มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาร่วมดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิด โดยเริ่มที่ทีมผ่าตัดจะอัลตร้าซาวด์และปักขนาดเข็ม ให้พอดีที่จะเอาก้อนเนื้อนั้นออก เพื่อให้เสียเนื้อเต้านมด้านข้างให้น้อยที่สุด แต่ยังคงซึ่งได้มาตรฐานในการรักษามะเร็งเต้านมเหมือนเช่นเคย แล้วจึงเอาชิ้นเนื้อไปพิสูจน์กับทีมพยาธิวิทยา เพื่อยืนยันขอบเขตมะเร็งให้แม่นยำ ก่อนจะดำเนินการรักษาในขั้นตอนของการฉายแสงในตอนท้าย”

ยกตัวอย่างเคสที่น่าสนใจ เมื่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านมต้องการที่จะมีบุตร นั่นหมายถึงความต้องการที่จะให้นมบุตร รวมถึงการต้องเผชิญกับภาวะมีบุตรยากหลังการรักษาด้วย จุดสตาร์ทของการรักษาจึงไม่ใช่การถกเถียงว่าจะผ่าหรือจะฉายแสง แต่เป็นการประชุมร่วมกันของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เพื่อวางแผนรักษาและเก็บไข่เอาไว้ สำหรับการมีบุตรในอนาคต ผู้ที่นั่ง ณ หัวโต๊ะประชุมก่อนการรักษาในวันนั้น คือหญิงสาวผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ที่วันนี้เธอเป็นแม่คนและมีลูกที่สมบูรณ์แข็งแรงดี

เพื่อป้องกันมะเร็งเต้านมผู้หญิงทุกคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องดิจิทัลเมมโมแกรม และอัลตร้าซาวด์พร้อมตรวจร่างกายเฉพาะทางปีละ 1 ครั้ง และหากมีอาการน่าสงสัยควรตรวจทุกๆ 6 เดือน ซึ่งที่ “ศูนย์เต้านม” โรงพยาบาลพระรามเก้า มีความพร้อมในการรักษามะเร็งเต้านมด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ร่วมกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย

“การผ่าตัดเต้านมก็เหมือนกับศิลปะการตัดเย็บเสื้อให้ผู้หญิง ถ้าเราจะเอาเสื้อของอีกคนไปให้อีกคนใส่ มันคงไม่พอดีตัว ถ้าแพทย์ไปตัดสินใจแทนคนไข้ เธอก็คงได้ในสิ่งที่เธอไม่ต้องการ กลับกันถ้าคนไข้ได้เลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมร่วมกับเรา การรักษานั้นก็จะเป็นเสื้อผ้าที่เธอต้องการ ใส่แล้วพอดีตัว” พญ.ชญานุตม์ ทิ้งท้าย